ประวัติศาสตร์วินิจฉัยแจ้ห่ม เมือง 912 ปี (อ้างอิง พ.ศ. 2551) ของ อำเภอแจ้ห่ม

โดย จิตรกร แต้มคล่อง การเขียนประวัติศาสตร์วินิจฉัยแจ้ห่ม เมือง 912 ปี ผู้เขียนร่วมกับนายรุ่งรพ ใจวงค์ษา (พระมหารุ่งรพ สิริปัญโย) ที่มีความถนัดด้านภาษาลานนา ได้พยายามสืบค้นจากเอกสารต้นฉบับหลายเล่มเพื่อยืนยันข้อสงสัยบางประการร่วมสิบปี บางเอกสารมีข้อความที่ไม่ตรงกันทั้งชื่อบุคคล ชื่อเมือง การระบุวันเวลา ด้วยเวลาและพื้นที่ขนาดหนังสือนี้ที่มีอย่างจำกัด การเขียนเนื้อหาเพื่อให้ครบถ้วนและการอ้างอิงอาจผิดพลาดบ้าง แต่อย่างไรก็ตามบทความนี้หากมีคุณความดีต่อชาวแจ้ห่มประการใด ผู้เขียนขออุทิศให้กับผู้วายชนม์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณพ่อบุญทัน ถ้ำทอง 18 ธันวาคม 2551

บนหลวงหมายเลข 1035 ระหว่างทาง 52 กิโลเมตรแรก เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นระยะ ๆ ของสันเขาผีปันน้ำ มีป่าไม้นานาพันธุ์ปกคลุมตลอดสองข้างทาง บางช่วงมีพืชไร่ พืชสวนของเกษตรกร ขณะเดินทางผ่านสันเขาเราจะมองเห็นที่ราบคล้ายแอ่งกระทะอยู่ข้างหน้า มีหมู่บ้านเรียงรายขึ้นไปทางทิศเหนือ

พื้นที่ดังกล่าวหนังสือลิลิตยวนพ่าย เขียนว่า แซ่ห่ม หนังสือพงศาวดารโยนก เขียนว่า แจ้หม จากชื่อดังกล่าวสรัสวดี อ๋องสกุล เขียนลงหนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ว่า “แจ้” แปลว่า “เมือง” คำว่า “แซ่ห่ม”, แจ้หม, แจ้ห่ม เป็นคำเดียวกัน สอดคล้อง ดร.ระณี เลิศเลื่อมใส ที่เขียนลงหนังสือฟ้าขวัญเมือง ว่า แจ้ หมายถึง เชียง และอาจารย์ศักดิ์เสริญ รัตนชัย อธิบายว่า คำว่า เมืองเป็นชื่อเรียกที่เกิดขึ้นภายหลังคำว่า แจ้ ที่มีความหมายเดียวกันกับ “เจียงหรือเชียง” ดังนั้น แจ้ห่ม ย่อมเกิดก่อนเชียงใหม่ที่พ่อขุนเม็งรายก่อตั้งปี 1839

จากคำว่า แจ้ห่ม ย่อมหมายถึง เมืองห่ม ทั้งนี้คำว่า ห่ม หมายถึง การปกคลุม แสดงกิริยาหลบซุกอยู่ภายใน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการขุดค้นหลักฐานอย่างจริงจังเพื่อวินิจฉัยแสดงความเห็น แต่อย่างไรก็ตามยังพอมีเค้าลางที่สามารถบ่งบอกบางอย่าง ดังนี้

คนแจ้ห่มเป็นใคร?

คนแจ้ห่มเป็นใคร? ศูนย์มานุษยวิทยา กรุงเทพฯ ระบุว่ามีแหล่งชุมชนยุคประวัติศาสตร์ลำปางมี 3 แห่ง คือ 1) ชุมชนบ้านใหม่ผ้าขาว 2) ชุมชนอักโขชัยคีรี 3) ชุมชนบ้านสบมอญ จากชุมชนดังกล่าว ปัจจุบันพบหลักฐานที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น แหล่งชุมชนอักโขชัยคีรี (บ้านสวนดอกคำ) มีกำแพงดินเรียงรายเป็นหย่อม ๆ กลางทุ่งนา ผู้เขียนกับเพื่อนๆ ขณะเป็นเด็กเคยปีนขึ้นไปเล่นซ่อนแอบกันอย่างสนุก ส่วนด้านทิศใต้ของวัดพบคูน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่าห้วยม่วง และแหล่งชุมชนบ้านสบมอญ พบร่องน้ำบริเวณชายป่าบ้านทุ่งทอง ชาวบ้านเรียกว่า “คูลั๊วะ”

คำว่า ลั๊วะ ในเอกสารตำนานพื้นเมืองที่จารด้วยอักษรล้านนา เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานพุทธจารีต ตำนานพุทธจาริก ต่างระบุว่าแจ้ห่มเป็นแหล่งที่อยู่ของชาวลั๊วะ ผู้ปกครองเมืองคือพญาอาฬวี มีนิสัยโหดร้าย ต่อมาถูกพระพุทธเจ้าเทศนาสั่งสอนจนกลับใจ และได้ประทับรอยพระบาทไว้บนดอยพระบาท และบรรจุพระเกศาธาตุไว้ตามวัดต่าง ๆ ใน อ.แจ้ห่ม อ.เมืองปาน เช่น วัดดงนั่ง วัดทุ่งทอง วัดอักโขชัยคีรี เป็นต้น หลังจากเสด็จปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์สาวกนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ทุกแห่ง

และจากตำนานพระพุทธรูปแก่นจันทร์แดง ฉบับพงศาวดารโยนก ถอดความโดยพระมหารุ่งรพ สิริปัญโญ (รุ่งรพ ใจวงค์ษา) มีดังนี้ พระแก่นจันทร์แดงเป็นพระยืน มีแท่นสูง 6 นิ้ว ส่วนองค์พระสูง 22 นิ้ว วัดโดยรอบได้ 23 นิ้วครึ่ง หนังแปดพันน้ำ จากความในตำนานกล่าวว่าเป็นของโบราณเมืองสุวรรณภูมิ ภายหลังเมืองเกิดศึกสงคราม ราชบุตรเจ้าสุวรรณภูมิสองพี่น้องพากันหนีข้าศึก พระอนุชาชื่อว่าจันทรราชกุมารได้นำพระบรมธาตุมาไว้ที่ตำบลลำปาง แคว้นเขลางค์นคร พระเชษฐาชื่อว่าอาทิตยราชนำพระแก่นจันทร์แดงมาไว้ที่เมืองแจ้ตาก พระแก่นจันทร์อยู่ที่เมืองแจ้ตากประมาณ 300 ปีต่อมาเมืองแจ้ตากเกิดภัยพิบัติพระพุทธรักขิตะมหาเถระจึงได้ไปอัญเชิญมาไว้ที่เมืองแจ้หมปลายแม่น้ำวัง มีพระยาหลวงคำแดงเจ้าเมืองแจ้หมรับอุปัฏฐากไว้ ครั้นพระยาหลวงคำแดงถึงแก่อนิจกรรม พระยาคำลือที่เป็นสหายท้าวตาแหวนนายบ้านสบสอยเป็นผู้สืบครองเมือง ท้าวตาแหวนได้นำไม้แก่นจันทร์ที่มีค่าแสนคำ นำมาขอแลกเปลี่ยนพระแก่นจันทร์แดงเพื่อนำไปบูชา ณ ตำบลสบสอย

พระพุทธปฏิมากรแก่นจันทร์แดงอยู่ที่เมืองแจ้หมได้ 10 ปี จึงย้ายไปบ้านสบสอย 10 ปี พระสีโวหะเถระหรือพระสีวัตตะเถระพระมหาเถระเมืองแจ้ตากขออาราธนากลับไปไว้ตำบลบ้านพลูแขวงเมืองแจ้ตาก ที่อารามตำบลกิ่วหมิ่นนาน 73 ปี ต่อมาเมืองแจ้ตากเกิดศึกสงคราม ปู่เมาจึงไปอาราธนามาไว้ที่วัดหนองบัวแขวงเมืองพะเยาได้ 30 ปี ขณะนั้นพระยาเชลียงที่มาสวามิภักดิ์พระเจ้าติโลกมหาราชและทรงมอบให้ครองเมืองพะเยา สร้างวัดดอนไชยขึ้นจึงได้อาราธนาพระแก่นจันทร์แดงมาประดิษฐานไว้ที่วิหารวัดดอนไชย กิตติศัพท์ทราบถึงพระเจ้าติโลกมหาราชเจ้านครเชียงใหม่ จึงโปรดให้พระธรรมเสนามาอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดอโศการามนครเชียงใหม่15 ปี ครั้นถึงแผ่นดินพระยอดเชียงรายเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ หมื่นหน่อเทพครูเชื้อพระวงค์พระยาเชลียงอุทิศเจียงทูลขอกลับคืนไปไว้เมืองพะเยาดังเดิม และในสมัยพระเมืองแก้วเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้นำกลับไปไว้ ณ วัดศรีภูมิ และภายหลังย้ายมาประดิษฐานที่โบสถ์วัดโพธาราม เมื่อจุลศักราช 887 ปีระกา สัปตศกวันพุธ เดือน 7 ทุติยาสาฒ ขึ้น 9 ค่ำ

การถูกระบุว่าเป็นชาวลั๊วะหรือละว้า ยังสอดคล้องกับความสัมพันธ์กับพะเยา โดยมีหลักฐานชาติพันธุ์พ่อขุนจอมธรรมที่ระบุว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงค์ลวะจักราชหรือราชวงค์ชาวลั๊วะแห่งเมืองหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน) จ.ศ. 458 (พ.ศ. 1639) มีโอรสชื่อขุนเจืองธรรมิกราช ครองเมืองภูคามยาว (พะเยา) จ.ศ. 482 (พ.ศ. 1663) ดังความปรากฏในพงศาวดาร โยนกฉบับของพระยาประชากิจรจักร์ (หน้า 236) ว่า ลำดับนั้นขุนเจืองราชโอรสได้ราชาภิเษกเสวยราชสมบัตินครพะเยา ครั้นล่วงมาได้ 6 ปี มีศึกแกว (ญวนอานาม) มาติดเมืองหิรัญนครเงินยาง ขุนชิณพระเชษฐาขุนจอมธรรมผู้มีศักดิ์เป็นลุงขุนเจืองผู้ครองหิรัญนครเงินยางได้มีราชสาส์นให้หมื่นเจตรหรือพิจิตร เชิญมาถึงขุนเจือง ว่าบัดนี้ท้าวกาวและเองกายยกรี้พลมามากนัก ขอเชิญขุนเจืองหลานเรารีบยกกำลังมาช่วย…ขุนเจืองจึงให้เกณฑ์พลเมืองพะเยา และหัวเมืองขึ้นทั้งปวง คือ เมืองพร้าว เมืองลอ เมืองเทิง…แจ้หลวง แจ้เหียน แจ้ลุง แจ้หม เมืองวัง สิริรวมคนได้ 133,000 คน ช้างเครื่อง 700 ม้า 3,000 ยกทัพไปทางเมืองคัว เมืองเชียงตั้ง เชียงช้าง ไปถึงเมืองหิรัญนครเงินยาง...

จากข้อความที่ปรากฏในหนังสือลิลิตยวนพ่าย สอดคล้องกับพงศาวดารโยนก หน้า 340 กล่าวว่า จุลศักราช 836 (พ.ศ. 2017) ปีมะเมีย ฉศก หมื่นด้งผู้กินเมืองเชียงชื่นถึงแก่กรรม โปรดให้หมื่นแคว้นผู้กินเมืองแจ้หมไปกินเมืองเชียงชื่นแทน และให้หมื่นกองผู้กินเชียงเรือกมาครองเมืองนคร (เขลางค์นคร) และในปีเดียวกันนั้นพระยาหลวงศุภโขไทยยกพลศึกขึ้นมาตีปล้นเอาเมืองเชียงชื่นได้และได้ฆ่าหมื่นแคว้นตาย หลังจากนั้นชื่อเมืองแจ้หมไม่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอีกเลย ต่อมาประมาณต้นปี พ.ศ. 2400 เศษ คำว่า แจ้ห่ม จึงปรากฏขึ้นอีกครั้งในฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของลำปางโดยมีนายเป้า (พระภูธรารักษ์) เป็นนายอำเภอคนแรก (ราวปี พ.ศ. 2445 – 2447)

สรุป จากหลักฐานที่ระบุคำว่าแจ้ห่ม โดยนับจากปีพ.ศ. 1639 สมัยพ่อขุนจอมธรรมกษัตริย์พะเยา จนถึงปีปัจจุบัน พ.ศ. 2551 ระยะเวลาที่ผ่านมาชื่อแจ้ห่มก็ยังไม่เคยเรียกเป็นอย่างอื่น

เอกสารหลักเพื่อการเปรียบเทียบกับเอกสารอื่น

    1. พระมหารุ่งรพ สิริปัญโญ ถอดความจาก ธรรมพุทธจาริก (ตำนานดอยดงนั่ง เมืองอาฬวี) ผูกถ้วน 7 ฉบับวัดศรีหลวง
    2. พระยาประชากิจจักร์ พงศาวดารโยนก (ตำนานพระพุทธรูปแก่นจันทร์)
    3. แสง โชติรัตน์ กาลมาลีปกรณ์ (ตำนานพระพุทธรูปแก่นจันทร์)
    4. ลัลลนา ศิริเจริญ “ลิลิตยวนพ่าย” (ถอดความ)